Money Management สำคัญอย่างไร ?

Fintech (Thailand) > Algo Trading Forum  > Money Management สำคัญอย่างไร ?

Money Management สำคัญอย่างไร ?

Money Management สำคัญอย่างไร ??

สำหรับคนที่สนใจใช้ Algo Trading แล้ว Money Management เป็นเรื่องที่ต้องทำควบคู่ไปกับการคิดค้น Trading Signal แต่คนทั่วไปไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเรื่อง Money Management นี้เท่าไรนัก ส่งผลให้การลงทุนตามระบบเทรดไม่สามารถทำกำไรได้ดีเท่าที่ควร หากถามผมว่าหัวใจของ Money Management คืออะไร คำตอบอยู่ในรูปด้านล่างครับ สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงมากที่สุดไม่ใช่การขาดทุน แต่คือการขาดทุนอย่างรุนแรง ลองเปรียบเทียบดูครับ หากเราเริ่มด้วยการขาดทุน 5% และเราต้องการกลับมามีเงินเท่าเดิม เราต้องทำกำไรในครั้งถัดไปให้ได้ 5.26% ซึ่งไม่ยากเกินไป ถ้าหากขาดทุน 20% ต้องทำกำไร 25% อันนี้เริ่มเหนื่อย แต่ถ้าเราขาดทุน 50% เราต้องทำกำไรถึง 100% กว่าที่จะรวยเท่าเดิม!

Why we should avoid large losses?

Money-Management

หลักการสำคัญของ Money Management คือการกำหนดว่าเราควรซื้อหุ้นจำนวนกี่หุ้นในแต่ละสัญญาณที่เกิดขึ้น และควรตั้ง Stop Loss ที่ระดับราคาเท่าไหร่สำหรับแต่ละโมเดล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการขาดทุนที่รุนแรง และเพื่อความมั่นใจว่าระบบเทรดจะมีผลประกอบการที่ดีสม่ำเสมอในระยะยาว

เพื่อความง่ายในการทำความเข้าใจ ผมขอยกตัวอย่างว่าระบบเทรดให้สัญญาณซื้อหุ้นตัวหนึ่ง โดยตั้ง Stop Loss ไว้ที่ 20% จากราคาต้นทุนที่ซื้อ และเราไม่ต้องการเสียเงินจากผลขาดทุนในการเทรดแต่ละครั้งเกิน 2% ของเงินทั้งหมด เราควรซื้อหุ้นตัวนี้เป็นสัดส่วนเท่าไหร่ของ Portfolio คำตอบคือ 10% ครับ ลองสมมติตัวเลขดูว่า Portfolio ของเรามีมูลค่า 1,000,000 บาท เราซื้อหุ้นตัวนี้ 100,000 บาท หากหุ้นตัวนี้วิ่งลงไปถึงจุดที่ต้อง Stop Loss เราจะขาดทุน 20,000 บาท ซึ่งคิดเป็น 2% ของมูลค่า Portfolio ทั้งหมด สำหรับกรณีอื่นๆ เราสามารถดูได้จากตารางด้านล่างได้เลยครับ

How much to place on one trade?

Money-Management2

จากตัวอย่างข้างต้น เราจะทราบสัดส่วนของการซื้อหุ้นแต่ละตัวก็ต่อเมื่อเราทราบจุด Stop Loss (Risk per Trade เป็นค่าที่เรากำหนดขึ้นเองตามลักษณะของโมเดล และความสามารถในการรับความเสี่ยงของเราเอง) สำหรับการทำโมเดลเพื่อ Algo Trading ในทางปฏิบัตินั้น ผมขอแนะนำทางเลือกในการตั้ง Stop Loss เพื่อเป็นแนวทางเบื้องต้นตามนี้ครับ (ครั้งถัดๆไปค่อยมาดูรายละเอียดกัน)

1)Fixed Stop: กำหนดจุด Stop ลงมา X% จากราคาซื้อ ซึ่งเป็นค่าคงที่ (เหมือนตัวอย่างด้านบน)
2)Trailing Stop: ทันทีที่ซื้อหุ้น กำหนดจุด Stop X% จากราคาสูงสุด ทำให้จุด Stop อาจเลื่อนสูงขึ้นเรื่อยๆ และอาจสูงกว่าราคาต้นทุนที่ซื้อหุ้นนั้นมา ส่งผลให้ยังคงได้กำไรบางส่วนแม้ถึงจุด Stop
3)Indicator Stop: กำหนดจุด Stop ที่อ้างอิงจาก Technical Indicator ส่งผลให้ Stop Loss แต่ละครั้งจะมี % ของผลขาดทุนที่ต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น Stop Loss เมื่อราคาต่ำกว่าเส้น Moving Average 50 วัน เกิน X%
4)Chart Stop: วิเคราะห์ Chart Pattern เพื่อหาแนวรับและกำหนดจุด Stop เป็น X% จากแนวรับนั้น
5)Time Stop: กำหนดเวลานานที่สุดที่ต้องการถือหุ้น ถ้าเกินเวลาดังกล่าวให้ขายหุ้นตัวนั้นทันที

การตั้ง Stop Loss นั้น เป็นคนละเรื่องกับ Exit Signal หรือสัญญาณขาย ดังนั้น เมื่อ Algo Trading เริ่มทำงานโดยการซื้อหุ้นตาม Entry Signal แล้ว การขายอาจจะเกิดขึ้นจาก Exit Signal หรือ Stop Loss ก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าเหตุการณ์ใดจะเกิดขึ้นก่อน สัปดาห์หน้า เรามาส่งท้าย Algo Trading Process ด้วยเรื่อง Order Execution กันนะครับ แล้วเจอกันครับ

ชลเดช เขมะรัตนา
CHONLADET  KHEMARATTANA
Chief Executive Officer
FINTECH (THAILAND) COMPANY LIMITED