Sharpe Ratio ตัวช่วยสำคัญในเลือกโมเดล Algo Trading
หลายครั้งที่เราพูดถึงการลงทุน สิ่งที่มักจะถูกนึกถึงเป็นอันดับแรกคือ “ผลตอบแทน” ว่าจะได้กำไรซักกี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งก็ไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด ใคร ๆ ลงทุนก็ย่อมต้องการผลตอบแทนกันทั้งนั้น แต่มีอย่างหนึ่งที่ควรจะต้องใส่ใจเพิ่มเติม นั่นก็คือ ความเสี่ยงจากการลงทุน ความเสี่ยงที่ว่านี้เป็นความเสี่ยงที่เราจะไม่ได้รับผลตอบแทนตามที่คาดไว้ ซึ่งวัดระดับความเสี่ยงของการลงทุนด้วยตัวเลขสถิติตัวหนึ่ง คือ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Standard Deviation ย่อว่า SD เราคงจะยังไม่ลงรายละเอียดเรื่องค่า SD กันในที่นี้ แต่ให้ผู้อ่านทุกท่านทราบไว้ว่าใช้วัดความเสี่ยงก็พอ
เมื่อเราทราบถึงการลงทุนที่มีความเสี่ยง แล้วการลงทุนที่ปราศจากความเสี่ยงล่ะมีมั้ย จริง ๆ แล้วก็มีสินทรัพย์ทางการเงินชนิดหนึ่งที่เราเชื่อกันว่าปราศจากความเสี่ยง นั่นคือ ตราสารหนี้ภาครัฐ เช่น ตั๋วเงินคลัง หรือพันธบัตรรัฐบาล เมื่อเราลงทุนในตราสารประเภทนี้ก็จะเหมือนกับว่าเราให้ประเทศยืมเงิน และโดยทั่วไปแล้วเราเชื่อว่าแม้ว่าธุรกิจจะพังได้ เศรษฐกิจพังได้ แต่ประเทศจะต้องไม่พัง จึงทำให้ตราสารหนี้ภาครัฐเหล่านี้ถูกใช้เป็นตัวแทนของสินทรัพย์ลงทุนที่ปราศจากความเสี่ยงนั่นเอง อย่างไรก็ตาม ผลตอบแทนของตราสารหนี้กลุ่มนี้ก็อยู่ในระดับต่ำด้วย
สำหรับนักลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนสูงกว่าตราสารหนี้ภาครัฐ ย่อมต้องกล้าที่จะยอมรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้นด้วย ผลตอบแทนจากการลงทุนที่มากกว่าดอกเบี้ยของตราสารหนี้ภาครัฐ เราเรียกว่า “ส่วนชดเชยความเสี่ยง” เช่น หากพันธบัตรรัฐบาลให้ดอกเบี้ย 4% ต่อปี แต่การลงทุนในหุ้น XYZ ได้ผลตอบแทน 18% ต่อปี นั่นก็คือ หุ้น XYZ มีส่วนชดเชยความเสี่ยงเท่ากับ 14% นั่นเอง แต่คำถามที่นักลงทุนจะต้องเผชิญต่อไปก็คือ แล้วส่วนชดเชยความเสี่ยงที่ได้มานั้น คุ้มค่ากับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นหรือไม่ ซึ่งการตอบคำถามนี้หากพิจารณาเฉพาะสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่งเป็นการเฉพาะจะตอบยาก ดังนั้น เราจึงใช้การวิเคราะห์เปรียบเทียบจะทำให้ง่ายขึ้น โดยเทคนิคที่ใช้คือ การนำส่วนชดเชยความเสี่ยงมาหารด้วยค่า SD จากการลงทุนสินทรัพย์นั้น เพื่อดูว่า 1% ของความเสี่ยง เราได้รับผลตอบแทนมาชดเชยความเสี่ยงนั้นกี่เท่า เช่น หากหุ้น XYZ มีความผันผวนของผลตอบแทนที่วัดด้วย SD เท่ากับ 10% เราก็จะนำส่วนชดเชยความเสี่ยงเท่ากับ 14% หารด้วย SD 10% ได้ผลลัพธ์เท่ากับ 1.4 เท่า เทคนิคที่ใช้หรือค่าที่ได้นี้เรียกว่า Sharpe Ratio นั่นเอง
เราจะเห็นว่า Sharpe Ratio ของหุ้น XYZ เท่ากับ 1.4 เท่า ยังไม่ได้มีนัยยะอะไรต่อการลงทุนของเรา แต่ค่าดังกล่าวจะมีความหมายขึ้นถ้าเรานำไปเปรียบเทียบกับการลงทุนในสินทรัพย์อื่น เช่น หากหุ้น JKL มีส่วนชดเชยความเสี่ยง 30% ต่อปี และความผันผวนของผลตอบแทนที่วัดด้วย SD เท่ากับ 25% คำนวณค่า Sharpe Ratio ได้เท่ากับ 1.2 เท่า (30%/25%) ซึ่งเราจะสามารถพิจารณาได้ทันทีว่าหุ้น XYZ คุ้มค่าความเสี่ยงมากกว่า เนื่องจาก 1% ของความเสี่ยงที่เราเผชิญอยู่นั้น หุ้น XYZ ให้ผลตอบแทน 1.4 เท่า แต่หุ้น JKL ให้ผลตอบแทน 1.2 เท่า
จะเห็นได้ว่าเมื่อเราต้องตัดสินใจเลือกลงทุน ไม่ว่าจะเป็นหุ้นรายตัว หน่วยลงทุนของแต่ละกองทุน หรือแม้แต่กลยุทธ์การลงทุนด้วย Algo Trading แต่ละแบบ ถ้าเราได้รู้ Sharpe Ratio แล้วก็จะทำให้เราสามารถเปรียบเทียบและเลือกการลงทุนที่เหมาะสมได้