เมื่อแบงก์ชาติปรับลดอัตราดอกเบี้ย แล้ว…ใครได้ ใครเสีย?

Fintech (Thailand) > Fintech blog  > เมื่อแบงก์ชาติปรับลดอัตราดอกเบี้ย แล้ว…ใครได้ ใครเสีย?

เมื่อแบงก์ชาติปรับลดอัตราดอกเบี้ย แล้ว…ใครได้ ใครเสีย?

เซอไพรส์สุดๆ กับการประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2562 โดยมีมติให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 1.75% มาอยู่ที่ 1.50% ต่อปีแทน ว่าแต่เพื่อนๆ สงสัยกันไหม…ว่า ทำไมจึงต้องลดอัตราดอกเบี้ย เหตุมาจากอะไร? ปรับทำไม? แล้วปรับแล้วจะเป็นยังไงต่อไป?! วันนี้แอดมาให้คำตอบแล้วนะจ๊ะ

เรามาสาวความกันแต่เนิ่นเลยดีกว่า เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจสงครามการค้าระหว่างจีน – สหรัฐฯ ที่มีมาเป็นระยะเวลายาวนาน ด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (BOA) และการขึ้นกำแพงภาษีของสหรัฐฯ เป็นผลให้การส่งออกของจีนลดลง รายได้ของแรงงานจีนจึงลดลงไปด้วย ดังนั้น จีนจึงตอบโต้ด้วยการลดค่าเงินหยวน ให้เงินหยวนอ่อนค่าลง ในวันที่ 8 ส.ค. 2562 เงินหยวนเหลือเพียง 7.0039 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แปลว่าเราต้องใช้ปริมาณเงินหยวนที่มากขึ้นในการแลกเงินดอล์ลาร์สหรัฐฯ เพื่อเพิ่มมูลค่าการส่งออก ต่อสู้สงครามทางการค้า จนกระทั่งล่าสุด สหรัฐฯ ได้ตอบโต้จีนกลับด้วยการขึ้นภาษีอีกในระลอกถัดไป 1 ก.ย. 2562 เป็นมูลค่า 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยการทำสงครามการค้านี้พาไปสู่ “สงครามการเงิน” ด้วยทั้งเงินหยวนจีน และเงินดอลลาร์สหรัฐอาจจะลดลงไปอีกในอนาคต เป็นผลให้เงินบาทยิ่งแข็งค่ามากขึ้น กระทบต่อภาคเศรษฐกิจการส่งออก

นอกจากนี้ปัญหาการประท้วงฮ่องกงยังฉุดการส่งออกไทย 500-900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในครึ่งปีหลัง แต่เดิมฮ่องกงเป็นตลาดส่งออกอันดับ 5 ของไทย โดยมีอัตราการส่งออก 4.7% จากการส่งออกทั้งหมดของไทยได้หดตัวลด 9 – 12% สินค้าอุปโภคและบริโภคมีความอ่อนไหวมาก ส่งผลให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่าลงซ้ำเดิมลงไปอีก ส่วนทางกับค่าเงินอื่นในภูมิภาคที่แข็งค่าขึ้นโดยเฉพาะเงินบาท ซึ่งกระทบต่อภาคเศรษฐกิจการส่งออกอีกเช่นกัน

โอโห้! เงินบาทไทยแข็งค่าซะขนาดนี้แปลว่า เรามีอำนาจในการซื้อสินค้าจากต่างประเทศมากขึ้นสินะ แบบนี้ก็ดีเลยช็อปปิ้งเพลินๆ กันทั่วประเทศ เป็นผลดีต่อผู้นำเข้าที่จะยิ่งนำเข้าสินค้ามากขึ้น แต่เดี๋ยวก่อน… งี้เงินก็ไหลออกประเทศหมดนะสิ ขุ่นพร๊ะ! จะส่งผลให้เศรษฐกิจประเทศชะลอตัวเข้าไปอีก… งั้นเรามาดูเศรษฐกิจในประเทศกันดีกว่า

ทางด้านเศรษฐกิจในประเทศ การเติบโตของสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ลดลงจากร้อยละ 5.6 เหลือ 4.2 สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ มีอัตราการเติบโตในอัตราที่ลดลงร้อยละ 4.4 เหลือ 2.6 สินเชื่อธุรกิจ SME หดตัวร้อยละ 0.1 จากเดิมขยายตัวร้อยละ 1.5 สินเชื่ออุปโภค บริโภค เติบโตในอัตราที่ลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 10.1 เหลือ 9.2 และสินเชื่อที่อยู่อาศัย รถบนต์ เติบโตลดลงตามยอดขายที่ชะลอตัว ส่วนทางกับการแข่งขันสินเชื่อรายย่อยของสถาบันการเงิน ทำให้สินเชื่อบัตรเครดิต หรือสินเชื่อส่วนบุคคลขยายตัวสูงขึ้น

จากเหตุการณ์ดังกล่าว เศรษฐกิจไทยจึงมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้เดิมและต่ำกว่าระดับศักยภาพ ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ เป็นผลให้แบงก์ชาติปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% โดยช่วงที่เศรษฐกิจซบเซา แบงก์ชาติจะประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อให้นโยบายการเงินผ่อนคลายมากขึ้น เป็นการกระตุ้นให้คนถอนเงินไปจับจ่ายใช้สอย หรือนำเงินไปลงทุนมากขึ้น พยุงให้เศรษฐกิจฟื้นตัว

เหตุผลอะไรที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ต้องลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย…

ทั้ง 6 แบงก์จึงปรับลดอัตราดอกเบี้ยตามแบงก์ชาติ เพื่อช่วยสนับสนุนประชาชนในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ค่อยดี และทำจุดยืนให้สอดคล้องกับแบงก์ชาติ สร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า

เมื่อปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายแล้วจะเป็นผลดีต่อประชาชนจริงหรือไม่?

  • อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก หากธนาคารอื่นๆ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก จะทำให้ประชาชนไม่ค่อยอยากฝากเงินในธนาคารหรือถอนเงินเพื่อไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ แทน เช่น ตลาดหุ้น ตลาดทองคำ เป็นต้น
  • สินเชื่อ ผู้กู้และผู้ขอสินเชื่อจะสามารถขอสินเชื่อได้โดยที่อัตราการจ่ายดอกเบี้ยต่องวดลดลง หากสัญญาที่ทำเป็น ดอกเบี้ยเงินกู้แบบลอยตัว (Floating Rate) ภาระดอกเบี้ยจะลดลงไปด้วย

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจธนาคารทหารไทย (TMB Analytics) กล่าวว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยช่วยให้ภาระการผ่อนชำระหนี้ประชาชนลดลงบางส่วน ผ่อนบ้าน รถยนต์ ได้เร็วขึ้น แต่บัตรเครดิตและบัตรเงินสดไม่ได้ลด จึงไม่ได้แปลว่าการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายแล้ว ประชาชนจะมีเงินไปจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น กลับกันอาจเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนก่อหนี้มาขึ้น

  • นักลงทุนและผู้ประกอบการ ผู้ประกอบการสามารถกู้เงินมาลงทุนได้มากขึ้น เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยถูกลง ต้นทุนการผลิตจึงลดลงด้วย หากว่ามีการลงทุนเพิ่มมากขึ้น อัตราการจ้างงานจะเพิ่มขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน
  • ผลตอบแทนพันธบัตร ทั้งพันธบัตรและตราสารหนี้จะให้ผลตอบแทนในอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง
  • ราคาสินค้า เมื่อประชาชนนำเงินออกมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ราคาสินค้าอาจมีแนวโน้มสูงขึ้น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น
  • ค่าเงินบาท เมื่อลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายแล้ว จะทำให้เงินลงทุนต่างชาติไหลออกไปลงทุนต่างประเทศที่ให้อัตราดอกเบี้ยสูงกว่า เป็นการชะลอการแข็งค่าของเงินบาทให้อ่อนค่าลงเพื่อกระตุ้นภาคธุรกิจการส่งออก

สุดท้ายนี้ มาดูแนวโน้มตลาดหุ้นกันดีกว่าว่า จะมีแนวโน้มเป็นยังไงต่อไป…

  • หุ้นบางกลุ่มมีแนวโน้มกลับเป็นขาขึ้นได้เช่นกัน หากประชาชนมองว่า การฝากเงินได้อัตราดอกเบี้ยต่ำ และการลงทุนในพันธบัตร ได้ผลตอบแทนต่ำ เงินลงทุนอาจเปลี่ยนทิศทางมาลงทุนในตลาดหุ้นแทน มาดูกันว่าหุ้นกลุ่มใดที่จะได้รับประโยชน์ และกลุ่มใดที่จะเสียประโยชน์จากการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงบ้าง?

กลุ่มหุ้นที่มีแนวโน้มกลับเป็นขาขึ้น ได้แก่ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ (SPALI, AP) กลุ่มอาหาร (GFPT, TU) กลุ่มลิสซิ่ง (TCAP, TISCO) กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และอินฟราฟันด์ (JASIF, DIF) เนื่องจากการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงของธปท. และทั้ง 7 ธนาคาร ทำให้ภาคเอกชนขอสินเชื่อนำมาลงทุนกิจการเพิ่มมากขึ้น ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของอัตราการจ้างงาน นอกจากนี้ กลุ่มการส่งออก กลุ่มท่องเที่ยว (MINT ,ERW, AOT) จะได้รับผลดีไปด้วย เพราะเงินบาทอ่อนค่าลงจากเดิม สินค้าในประเทศจึงมีราคาถูกลงในสายตาชาวต่างชาติ เพิ่มจำนวนชาวต่างชาติให้เข้ามาท่องเที่ยวไทย เพื่อช่วยผลักดันให้เงินสะพัดหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ส่วนกลุ่มหุ้นที่มีแนวโน้มเป็นกลางถึงลบ ได้แก่ กลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ ที่ได้รับรายได้จากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้น้อยลง และกลุ่มสายการบิน

Cr: Bank of Thailand

.

.

Follow us on

Line: @fintechthailand

Instagram: fintechthailand

 

#Fintech  #FintechThailand #Recession #MonetaryPolicy #Inflation #TradeWar #HongkongProtests #Appreciate