P/E Ratio ความถูก ความแพง และความคาดหวัง

Fintech (Thailand) > Algo Trading Forum  > P/E Ratio ความถูก ความแพง และความคาดหวัง

P/E Ratio ความถูก ความแพง และความคาดหวัง

นักลงทุนมือใหม่มักมีคำถามว่าหุ้นที่ตัวเองสนใจอยู่นั้น น่าซื้อลงทุนหรือไม่ ราคาแพงเกินไปหรือยัง ราคาหลายร้อยคือแพงราคาต่ำบาทคือถูกหรือเปล่า คำตอบแรกเลยคือเราไม่สามารถนำราคาหุ้น 2 ตัวมาเปรียบเทียบกันได้ทันทีนะครับ ตัวเลขที่จะช่วยตอบคำถามนี้ได้คือ PE Ratio ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบราคาหุ้นในปัจจุบันกับกำไรที่บริษัทนั้นทำได้ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา(4 ไตรมาสล่าสุด)

ลองคิดตามกันดู สมมติว่าเราดูหุ้น 2 ตัวที่อยู่ในธุรกิจเดียวกัน มีการเจริญเติบโตเท่ากันและยังมีราคาเท่ากันที่ 20 บาทต่อหุ้น สิ่งเดียวที่แตกต่างกันคือหุ้นตัวแรกมีกำไรต่อหุ้น 1 บาท หุ้นตัวที่สองมีกำไรต่อหุ้น 2 บาท ลองถามตัวเองดูว่าเราอยากซื้อหุ้นตัวไหนมากกว่ากัน แน่นอน คำตอบคือตัวที่สอง การเปรียบเทียบราคาหุ้นกับกำไรแบบนี้คือพื้นฐานของ PE Ratio นั่นเอง โดยที่หุ้นตัวแรกมี PE 20 เท่า ซึ่งแพงกว่าหุ้นตัวที่ 2 ที่มี PE 10 เท่า
โดยทั่วไปเมื่อเราพูดถึง PE รวมถึงตัวเลขที่แสดงอยู่ใน www.set.or.th และ www.settrade.com เรากำลังใช้กำไรต่อหุ้นในอดีตมาคำนวณ ซึ่งเรียกว่า Trailing PE แต่ถ้าเราต้องการมองไปยังอนาคตและใช้กำไรของบริษัทที่คาดว่าจะเกิดขึ้นใน 1 ปีข้างหน้ามาคำนวณแทนกำไรในอดีต เราจะได้ PE Ratio อีกแบบหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า Forward PE สำหรับการวิเคราะห์นั้น ผมแนะนำให้ใช้ทั้ง Trailing PE และ Forward PE ควบคู่กันไปเพื่อเปรียบเทียบหุ้นใน Sector เดียวกัน หรือเปรียบเทียบ PE ปัจจุบันกับค่าเฉลี่ย PE ที่เกิดขึ้นในอดีต

PE-1

เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น จากรูปด้านบน ผมขอยกตัวอย่าง Trailing PE ของหุ้น 3 ธนาคารได้แก่ BBL, KBANK และ SCB ตั้งแต่ปี 2011 จนถึงปัจจุบัน ข้อสังเกตแรกคือ PE ของทั้งสามธนาคารมักจะเคลื่อนตัวไปในทิศทางเดียวกันตาม Sentiment ของตลาด โดยปัจจุบันอยู่ในระดับที่ต่ำเมื่อเทียบกับช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (Trailing PE: BBL = 8.8, KBANK = 9.1, SCB = 9.3)
ข้อสังเกตที่สำคัญอีกประเด็นหนึ่งคือ Trailing PE ของ BBL จะมีค่าต่ำกว่า KBANK และ SCB อยู่เสมอ เนื่องจากกำไรต่อหุ้น (EPS: Earnings Per Share) ของ KBANK และ SCB มีการเติบโตที่สูงกว่า BBL ทำให้นักลงทุนมีความคาดหวังใน KBANK และ SCB ว่าในอนาคตจะสร้างกำไรได้โตเร็วกว่า BBL
เมื่อวิเคราะห์ด้วย Forward PE ย้อนหลัง 5 ปี จากรูปด้านล่าง ข้อสรุปที่ได้ก็ออกมาคล้ายกับการใช้ Trailing PE โดยกำไรต่อหุ้นในอนาคต 1 ปีนั้น ได้มาจากค่าเฉลี่ยจากการประเมินของนักวิเคราะห์หลายๆ คน หรือที่เรียกว่า Analyst Consensus (Forward PE: BBL = 9.2, KBANK = 9.8, SCB = 9.5)

PE-2

ข้อสรุปจากการวิเคราะห์ PE ของหุ้นทั้ง 3 พบว่าปัจจุบันมี PE อยู่ในระดับที่ต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูล 5 ปีที่ผ่านมา ถือว่าราคาหุ้นปัจจุบันอยู่ในระดับที่ค่อนข้างถูกเมื่อเทียบกับอดีต อย่างไรก็ตาม PE อาจลดลงได้อีกหากกำไรในแต่ละไตรมาสยังไม่สามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ ความคาดหวังเกี่ยวกับผลประกอบการในอนาคตเป็นตัวกำหนดทิศทางราคาหุ้นจริงๆ ครับ
สัปดาห์หน้ามาเจอกันใหม่ ผมจะขอยกตัวอย่างเกี่ยวกับการใช้ ROE หรือ Return On Equity บ้างนะครับ สวัสดีครับ
ชลเดช เขมะรัตนา
CHONLADET  KHEMARATTANA
Chief Executive Officer
FINTECH (THAILAND) COMPANY LIMITED